ANNOUNCEMENT
ANNOUNCEMENT
โครงการพัฒนามาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุลสำหรับการแพทย์แม่นยำของห้องปฏิบัติการในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2558 โดยมีกิจกรรมการประเมินผลการตรวจวิเคราะห์วัตถุทดสอบที่ทราบปริมาณการกลายพันธุ์ที่ส่งไปยังห้องปฏิบัติการจำนวนรวม 8 แห่งจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์หาความผิดปกติระดับโมเลกุล ได้แก่ การกลายพันธุ์ของยีน EGFR, KRAS และ BRAF ที่ช่วยพยากรณ์การตอบสนองต่อการรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้า เพื่อให้ห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งทำการตรวจด้วยวิธีการตรวจเดียวกันกับที่ให้บริการตรวจสิ่งส่งตรวจทางคลินิก
กิจกรรมการประเมินคุณภาพห้องปฏิบัติการนี้ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยการสนับสนุนจากคณะอนุกรรมการวินิจฉัยระดับโมเลกุล และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาคเอกชน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2561 ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมพยาธิวิทยาคลินิกไทยให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการในการดำเนินการภายใต้ชื่อ Thailand National External Quality Assessment Scheme (TH NEQAS) for Precision Molecular Pathology และมีการพัฒนาเรื่อยมาจนหน่วยทดสอบความชำนาญ TH NEQAS for Precision Molecular Pathology ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17043 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสําหรับการทดสอบความชํานาญห้องปฏิบัติการในปี พ.ศ. 2564
ในปี พ.ศ. 2566 หน่วยทดสอบความชำนาญ TH NEQAS for Precision Molecular Pathology จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญ 5 รายการ ครอบคลุมการทดสอบหาการกลายพันธุ์ของยีน EGFR, KRAS, NRAS, BRAF, BRCA1, BRCA2, PIK3CA, MET และการเชื่อมต่อกันของยีน ALK, ROS1, RET และ NTRX ที่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ด้วยยามุ่งเป้า โดยได้รับความไว้วางใจจากห้องปฏิบัติการสมาชิกจำนวนรวม 26 แห่งทั่วประเทศไทย
หน่วยทดสอบความชำนาญ TH NEQAS for Precision Molecular Pathology มีภารกิจในการประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ทางพยาธิวิทยาระดับโมเลกุลสำหรับการแพทย์แม่นยำของห้องปฏิบัติการสมาชิกในประเทศไทยตามมาตรฐานการทดสอบความชํานาญห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17043
การประเมินคุณภาพห้องปฏิบัติการโดยหน่วยทดสอบความชำนาญ TH NEQAS for Precision Molecular Pathology มีความแตกต่างจากการประเมินคุณภาพห้องปฏิบัติการที่จัดโดยองค์กรในต่างประเทศหลายประเด็น กล่าวคือตัวอย่างวัตถุทดสอบที่จัดส่งให้ห้องปฏิบัติการสมาชิกในแต่ละปีจะมีความผิดปกติระดับโมเลกุลที่มีความสำคัญทางคลินิกและหลากหลายกว่า และยังมีความผิดปกติระดับโมเลกุลเหล่านี้ในปริมาณน้อยเพื่อช่วยห้องปฏิบัติการสมาชิกในการประเมินความไวในการตรวจวิเคราะห์ อีกทั้งจำกัดระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์และรายงานผลให้ใกล้เคียงกับการให้บริการจริงในทางคลินิก นอกจากนี้ในแต่ละปีจะมีการจัดประชุมเพื่อให้ทุกห้องปฏิบัติการเห็นภาพรวมการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุลของประเทศไทย มีการนำเสนอหัวข้อทางวิชาการที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ และห้องปฏิบัติการสมาชิกได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์
สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์